พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์เติบโต
จากข้อมูลพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยของปี 2560 ที่กรีนเนทรวบรวมได้ แสดงให้เห็นว่า มีการก้าวกระโดดของพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีการตรวจรับรองมาตรฐาน คือ มีการขยายตัวเกือบ 266% จากในปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์รวมกันกว่า 1.309 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ทำการเกษตร (ปลูกพืช เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เลี้ยงสัตว์) 0.574 ล้านไร่ และพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติ 0.735 ล้านไร่
การขยายตัวของพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาตินั้น (จากเดิมเพียงไม่กี่พันไร่) เกิดขึ้นจากผู้ผลิตเพียง 1 – 2 รายเท่านั้น แต่พื้นที่การเก็บเกี่ยวเป็นป่าธรรมชาติ ที่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง จึงทำให้จำนวนพื้นที่ที่ได้รับการรับรองมีขนาดใหญ่มาก แต่ที่น่าสนใจจริงๆ ก็คือ การขยายตัวของพื้นที่การเกษตร (จากเดิมที่มีพื้นที่เพียง 0.361 ล้านไร่) ที่ขยายตัวมากถึง 59% โดยพืชที่มีการขยายตัวมากที่สุดก็คือ ข้าวเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการของรัฐบาล ที่ขยายตัวจากเพียงหมื่นกว่าไร่เป็นกว่าสองแสนไร่ในปีเดียว
ขยายพื้นที่ทำนาเกษตรอินทรีย์
โครงการนี้คือ โครงการของกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีแผนที่จะขยายเพิ่มพื้นที่การทำนาเกษตรอินทรีย์ใหม่อีก 1,000,000 ไร่ในเวลา 5 ปี ซึ่งเรียกว่า เป็นโครงการที่ “ท้าทาย” มาก เพราะแม้แต่แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศ (ของหน่วยงานราชการทั้งหมด) ยังวางเป้าในการขยายพื้นที่รวมกันเพียง 3 แสนกว่าไร แต่กรมการข้าวเพียงกรมเดียว มีแผนที่ใหญ่/สูงกว่ารัฐบาลไทยโดยรวม แน่นอนว่า การวางแผนโครงการขนาดยักษ์เช่นนี้ ต้องมีงบประมาณสนับสนุนจำนวนมาก แผนงบประมาณของกรมการข้าวจึงใหญ่กว่างบประมาณด้านเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาลไทยที่เตรียมจัดสรรให้หน่วยงานราชการอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน (แผนงบประมาณกรมการข้าวน่าจะต้องใช้งบประมาณรวมกันกว่า 14,000 ล้านบาทในช่วง 5 ปีของโครงการ)
โครงการนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคเอกชนค่อนข้างมาก เนื่องจากการจัดทำโครงการไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย (ที่จริงไม่ได้ปรึกษาแม้แต่กับหน่วยงานราชการอื่นเองด้วย) รวมทั้งแนวทางในการจ่ายเงินอุดหนุนให้เกษตรกรโดยตรง (ตามจำนวนพื้นที่ที่ทำนาเกษตรอินทรีย์) ซึ่งอาจทำให้เกิดการ “แย่งชิงเกษตรกร” ระหว่างกรมการข้าวกับภาคเอกชน และการบังคับให้เกษตรกรต้องขอการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมการข้าวเท่านั้น (เป็นการผูกขาด และจำกัดโอกาสในการส่งออกผลผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร ที่จำเป็นต้องตรวจรับรองตามมาตรฐานสากล) แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดน่าจะเป็นการที่กรมการข้าวต้องก้าวกระโดดการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กว่า 66 เท่าตัวใน 5 ปี (จากเดิมที่กรมการข้าวเคยให้บริการตรวจรับรองเพียงหมื่นกว่าไร่ต่อปี) ซึ่งการต้องขยายการให้บริการดังกล่าว น่าจะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อประสิทธิผลและความน่าเชื่อถือของระบบการตรวจรับรองของกรมการข้าวเอง
งานแสดสินค้าออร์แกนิค
อีกเหตุการณ์ที่น่าสนใจของวงการเกษตรอินทรีย์ไทยก็คือ การเปลี่ยนโฉมงานแสดงสินค้าออร์แกนิค จากเดิมที่กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานแสดงสินค้าออร์แกนิคระดับประเทศ “Organic and Natural Expo and Symposium” ในปี 2561 ทาง Nuremberg Messe บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับโลก (จากเยอรมัน) ได้เข้ามาเป็นผู้จัดงานนี้แทน และเปลี่ยนชื่องานเป็น “BioFach Southeast Asia” และเปลี่ยนขอบข่ายงานให้เป็นงานระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยทางกระทรวงพาณิชย์ยังคงเป็นสนับสนุนหลักสำหรับผู้ประกอบการไทยในการออกงานแสดงสินค้านี้ ซึ่งการเกิดขึ้นของงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาคทำให้สมาคมผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคได้พบปะกัน จนเกิดการรวมตัวกันเป็น “สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน” (ASEAN Organic Federation) เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคนี้
PGS เติบโต
ในช่วงปี 2560/61 มีกระแสการเติบโตของระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม พีจีเอส (participatory guarantee system – PGS) ในวงการผู้ผลิตและผู้ประกอบเกษตรอินทรีย์ไทย โดยเฉพาะเมื่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของรัฐบาลได้ให้การยอมรับและสนับสนุนระบบพีจีเอสนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนพีจีเอสจำนวนมาก แต่ด้วยข้อจำกัดของความเข้าใจและประสบการณ์ ทำให้เกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ยังขยายตัวได้ค่อนข้างช้า ทำให้หน่วยงานต่างๆ ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส” ขึ้นในช่่วงปลายปี 2560 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และบทเรียน ตลอดจนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ให้กว้างขวางมากขึ้น และต่อมาในช่วงต้นปี 2561 ทางสมาพันธ์ฯ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ในระดับประเทศด้วย