ประเทศมาเลเซียแบ่งออกเป็นสองภูมิภาคใหญ่ ที่มีทะเลเปิดกั้นกลาง ห่างกันราว 640 กิโลเมตร คือ มาเลเซียตะวันตก และมาเลเซียตะวันออก พื้นที่ของประเทศประมาณ 330,000 ตารางกิโลเมตร และมีสภาพอากาศแบบร้อนชื้นตลอดทั้งปี เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ก็มีหลายพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลชายฝั่งทะเลค่อนข้างมาก เพราะอยู่ติดกับทะเล ในมาเลเซีย มีภูเขาสูงอยู่บ้าง ซึ่งทำให้มีอากาศที่ค่อนข้างเย็น
ภาคการเกษตรของมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูกพืชอุตสาหกรรมและพืชอาหารหลายอย่าง เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โกโก้ สับปะรด พริกไท แต่ก็มีการผลิตข้าว (ซึ่งยังไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ) และผัก (มีเหลือส่งออกบ้าง) ระบบการผลิตจะมีทั้งที่เป็นฟาร์มขนาดเล็กของเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่ปลูกพืชอุตสาหกรรม
ความตื่นตัวเกี่ยวกับการบริโภคอาหารสุขภาพได้เริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยเฉพาะในหมู่ของครอบครัวผู้ป่วยจากโรคมะเร็ง และโรคเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งหันมาสนใจในการเลือกซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ ที่มีความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีการเกษตรในการเพาะปลูก โดยในระยะแรก สินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีผู้ป่วยเป็นผู้ที่เริ่มดำเนินการนำเข้าเอง (เพื่อใช้บริโภคส่วนตัว) ต่อมา ผู้ประกอบการร้านสุขภาพจึงได้เริ่มหันมานำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์มาวางจำหน่าย
คู่ขนานไปกันกับการพัฒนาระบบการตลาด การผลิตเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียเริ่มต้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน คือ Centre for Environment, Technology and Development, Malaysia (CETDEM) ที่ได้ริเริ่มทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 โดยเริ่มจากพื้นที่เพียง 2 ไร่กว่า ซึ่งหลังจากนั้น ก็ได้มีฟาร์มเอกชนอีกหลายฟาร์มที่ได้เริ่มปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้ได้เล็งเห็นโอกาสทางการตลาดภายในประเทศที่เริ่มขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การผลิตเหล่านี้ก็ยังค่อนข้างกระจัดกระจาย และไม่ได้มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แต่อย่างใด
การผลิตเกษตรอินทรีย์
การผลิตเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างชัดเจนในราวปี พ.ศ. 2538 เมื่อฟาร์มปลูกผักในเขต Cameroon Highlands (ซึ่งเป็นเขตปลูกผักหลักที่สำคัญของประเทศ) หลายฟาร์มได้ปรับเปลี่ยนการผลิตมาเป็นเกษตรอินทรีย์พร้อมกัน โดยฟาร์มบางส่วนได้ขอรับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ด้วย และผลผลิตผักสดของฟาร์มเหล่านี้ถูกส่งมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องให้กับผู้บริโภคในเมืองใหญ่หลายเมืองในเขตมาเลเซียตะวันตก
การผลิตเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียได้พัฒนาต่อเนื่องขึ้นมาอย่างช้าๆ ในปัจจุบัน พื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศมีอยู่เพียงไม่ถึงหนึ่งหมื่นไร่ ส่วนข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวชนิดของผลผลิตนั้นไม่มีการรวบรวมไว้
ปี พ.ศ. | จำนวนฟาร์ม | พื้นที่ (ไร่) |
2544 | 27 | 818.75 |
2545 | ไม่มีข้อมูล | 3,631.25 |
2547 | ไม่มีข้อมูล | 7,362.50 |
2549 | ไม่มีข้อมูล | 14,793.75 |
2551 | 25 | 9,885.13 |
2552 | 54 | 9,625 |
2553 | ไม่มีข้อมูล | ไม่มีข้อมูล |
2554 | 29 | ไม่มีข้อมูล |
2555 | 21 | ไม่มีข้อมูล |
2556 | 23 | ไม่มีข้อมูล |
2557 | 23 | ไม่มีข้อมูล |
แหล่งข้อมูล: Ong 2009, Majid 2009, Sivapragasam 2012, Suhaimee eds 2016.
การผลิตเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียในปัจจุบันยังคงมีแค่การผลิตผักและผลไม้เท่านั้น แม้ว่าจะมีความพยายามในการขยายการผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์และการเลี้ยงไก่ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ผลผลิตผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่จะขายภายในประเทศ แต่ก็มีการส่งออกไปสิงคโปร์บางส่วนเช่นกัน ระบบการผลิตจะเป็นฟาร์มผสมผสาน ที่ปลูกผักและไม้ผลร่วมกัน โดยฟาร์มปลูกผัก-ผลไม้เกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขต Cameroon Highland
การแปรรูปเกษตรอินทรีย์
ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์นั้น มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายที่เริ่มแปรรูปอาหารเกษตรอินทรีย์ เช่น ขนมปัง เต้าหู้ นมถั่วเหลือง ถั่วหมักเทมเป้ รวมทั้งผักหมักดองต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนการจำน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปเกษตรอินทรีย์เหล่านี้จะจำหน่ายเฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น จากการศึกษาพบว่า มีผู้ประกอบการแปรรูปเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองทั้งหมด 25 รายในปัจจุบัน (Majid 2009)
การตลาดเกษตรอินทรีย์
สำหรับตลาดเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียเติบโตอย่างรวดเร็วมาก นับจากที่กระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพที่เริ่มต้นขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 โดยเฉพาะในหมู่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน ที่มีครอบครัวที่มีผู้ป่วย (โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ) ทำให้มีเกิดกระแสความสนใจในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และพัฒนาต่อมาเป็นอาหารเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำให้มีผู้ประกอบการเอกชนที่ริเริ่มนำเข้าอาหารสุขภาพและเกษตรอินทรีย์จากต่างประเทศ และจำหน่ายโดยตรงให้กับผู้สนใจ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นร้านค้าปลีกเฉพาะทาง (specialty shops) ในลักษณะของร้านสุขภาพและร้านเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งในระยะหลัง ได้มีซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งที่หันมาสนใจกับตลาดเกษตรอินทรีย์ และนำสินค้าเกษตรอินทรีย์เข้าไปจำหน่ายด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียมากกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น กัวลาลัมเปอร์ และปีนัง
จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียในปี พ.ศ. 2547 มีมูลค่าราว 50 ล้านริงกิต (ประมาณ 500 ล้านบาท) และมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% (Ong 2006) โดยสินค้าเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แม้แต่ผักสดเอง ซึ่งมีการผลิตในประเทศบางส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ แหล่งในการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของมาเลเซีย คือ สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และประเทศไทย โดยมีมูลค่าการนำเข้าในปี พ.ศ. 2547 ประมาณ 15 ล้านริงกิต (Ongi 2006)
กฎระเบียบการค้าและการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์
กระทรวงเกษตรของมาเลเซียได้จัดทำมาตรฐานการผลิตพืชเกษตรอินทรีย์เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 (The Malaysian Organic Standards – MS1529:2001) และจากนั้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 ก็ได้จัดตั้งระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Malaysia Organic Scheme (Skim Organic Malaysia – SOM) ภายในกระทรวงเกษตร แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้มีการกำหนดกฏระเบียบในการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว จึงมีผู้ผลิต-ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์เพียงไม่กี่รายที่ขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ การดำเนินการรับรองของ SOM ล่าช้ามาก Ong and Majid (2007) ระบุว่า นับจากปี พ.ศ. 2547 – 2550 มีเกษตรกรประมาณ 70 รายที่ได้สมัครขอการรับรองจาก SOM แต่สามารถตรวจรับรองได้เพียง 17 รายเท่านั้น
ต่อมาในปี 2554 กรมวิชาการเกษตรได้ประกาศการบังคับใช้ฉลากเกษตรอินทรีย์ในผลผลิตปฐมภูมิ (ผักผลไม้และข้าว) แต่ไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์แปรรูป ซึ่งหมายความว่า ผู้ขายสินค้าออร์แกนิคในกลุ่มนี้จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น แต่เนื่องจากการบังคับใช้กฏหมายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตร แต่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่เกิดผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ
ส่วนการนำเข้าสินค้าออร์แกนิคนั้น เนื่องสินค้าทั้งหมดไดม่ได้มีการรับรองมาตรฐานของ SOM การประกาศใช้ฉลากบังคับเกษตรอินทรีย์จึงไม่สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซีญต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าและการขายสินค้าเกษตรและอาหารเช่นเดียวกันกับสินค้าทั่วไป ซึ่งแยกออกตามหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว เช่น ในกรณีของผักและผลไม้สด จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบที่กำหนดโดย Federal Agricultural Marketing Authority (FAMA) เกี่ยวกับการแยกเกรด บรรจุภัณฑ์ และฉลากสินค้า ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร มาเลเซีย
ในส่วนของภาคเอกชน ผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านเกษตรอินทรีย์ภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดตั้ง Organic Alliance Malaysia (OAM) ขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นองค์กรกลางระดับประเทศของภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ ต่อมา OAM ได้ริเริ่มให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหน่วยตรวจสอบรับรองจากต่างประเทศ ที่เข้าไปให้บริการตรวจรับรองการผลิต-แปรรูปเกษตรอินทรีย์ในประเทศมาเลเซีย ทั้งจากยุโรป ออสเตรเลีย รวมทั้งสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) จากประเทศไทยด้วย ทาง OAM ได้ร่วมกับ มกท. และหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์อีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียร่วมกันจัดตั้ง Certification Alliance (CertAll) ขึ้น เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอื่นๆ ซึ่งทำให้ OAM ยอมรับผลการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของ มกท. ส่งผลให้การส่งออกไปมาเลเซียเป็นไปได้อย่างสะดวก
ในปี 2557 กรมวิชาการเกษตรได้ปรับระบบการอนุญาตการนำเข้าสินค้าออร์แกนิคใหม่ โดยได้เปิดกว้างให้กับการนำเข้าสินค้าออร์แกนิคจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นไปได้ 3 ลักษณะคือ
(ก) ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับต่างประเทศ (ยังไม่มีข้อตกลงใดในปัจจุบัน)
(ข) ระบบตรวจรับรองที่มีการประเมิน peer review
(ค) มีรายงานการตรวจที่ยอมรับ/oversight โดย OAM
ต่อมาในปลายปี 2558 กรมวิชาการเกษตรตัดสินใจเปลี่ยนชื่อระบบตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ใหม่เป็น myOrganic รวมทั้งเปลี่ยนตรารับรองเป็นแบบใหม่ด้วย แต่ปัญหาการบังคับใช้ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขได้
นโยบายเกษตรอินทรีย์
นอกเหนือจากการทำมาตรฐานและระบบการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรแล้ว รัฐบาลมาเลเซียยังให้ความสนใจในการสนับสนุนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ภายในประเทศ ซึ่งเริ่มการสนับสนุนมาตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 โดยในแผนการพัฒนาประเทศฉบับที่ 8 พ.ศ. 2544 – 48 (8th Malaysia Plan 2001 – 2005) ได้กำหนดเป้าหมายในการขยายการผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 1,562.5 ไร่ และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้กับเกษตรกรในช่วงระยะปรับเปลี่ยนมากถึงไร่ละ 8,000 บาท ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของฟาร์ม เช่น ถนน ชลประทาน ไฟฟ้า เป็นต้น ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 9 พ.ศ. 2549 – 2553 รัฐบาลมีแผนที่จะขยายการผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นปีละ 25,000 ไร่ รวม 5 ปี 125,000 ไร่ โดยหวังว่าจะช่วยขยายมูลค่าธุรกิจเกษตรอินทรีย์ของประเทศเป็น 5,000 ล้านบาทได้ เมื่อสิ้นแผน 9 ในปี พ.ศ.2553
แม้ว่าเป้าของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของมาเลเซียดูจะไม่ได้ใหญ่โตมากนัก แต่ผลการดำเนินก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ทั้งนี้เพราะภาคการเกษตรในมาเลเซียมีปัญหาในเชิงโครงสร้างอยู่หลายด้านมาก กล่าวคือ แม้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่จะมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง แต่พื้นที่การผลิตก็มีขนาดที่เล็กมาก คือ เฉลี่ยราว 10 ไร่ต่อครอบครัว ซึ่งทำให้ไม่คุ้มทุนสำหรับเกษตรกรในการปรับปรุงผลิตภาพกรผลิตในฟาร์ม โดยการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาช่วย ในขณะที่แรงงานในภาคการเกษตรก็หายากและมีต้นทุนสูง ซึ่งทำให้ฟาร์มเกษตรเชิงการค้าในมาเลเซียต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซียและประเทศไทย ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งต้องมีการลงทุนเพิ่ม จึงเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ที่ดินที่เหมาะสมกับการปลูกผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์ เป็นที่ดินที่อยู่ในเขตที่สูง เช่น ที่ Cameroon Highland ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับเกษตรกร แต่จะให้เกษตรกรเช่าที่ดินแทน ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงในที่ดินเกษตร เกษตรกรจึงขาดความมั่นใจในการลงทุนปรับปรุงฟาร์มของตัวเอง
ปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานของการพัฒนาการเกษตรในมาเลเซียโดยรวม ซึ่งทำให้ภาคการเกษตรของมาเลเซียนับวันหดตัวเล็กลง และที่เหลืออยู่ก็เพียงฟาร์มขนาดใหญ่ ที่ผลิตพืชอุตสาหกรรมเช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ดังนั้น อนาคตเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์จึงดูไม่น่าจะสดใสมากนัก อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนอาหารเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ในมาเลเซียยังมีอนาคตที่แจ่มใส ซึ่งเป็นโอกาสของเกษตรอินทรีย์ไทย เพราะตลาดเกษตรอินทรีย์มาเลเซียต้องพึ่งพาการนำเข้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากต่างประเทศเป็นหลัก
อ่านเพิ่มเติม
* วิฑูรย์ ปัญญากุล (2553), รายงาน “การขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรณีศึกษาในประเทศมาเลเซีย และ สิงคโปร์)”, ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท, โครงการวิจัยสนับสนุนโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์]
* Suhaimee S.; Ibrahim, I.Z.; and Wahab, M.A.N.A. (2016) “Organic Agriculture in Malaysia”, http://ap.fftc.agnet.org/ap_db.php?id=579&print=1.