ในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคในสิงคโปร์ได้เริ่มหันมาให้ความใส่ใจกับเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะตัวเองหรือสมาชิกในครอบครัว มีปัญหาด้านสุขภาพ (เช่น โรคมะเร็ง) ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เลือกบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคดีขึ้น อีกกลุ่มของผู้บริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ คือ ชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักและทำงานในสิงคโปร์ ซึ่งมีแนวคิดเรื่องสุขภาพองค์รวม และการเลือกใช้ชีวิตที่ใส่ใจสุขภาพ (well-being lifestyle) มาตั้งแต่อยู่ในประเทศของตัวเอง และพยายามดำเนินชีวิตในแนวทางดังกล่าวเมื่อย้ายมาอยู่ในสิงคโปร์ วิถีชีวิตที่ใส่ใจสุขภาพนี้ประกอบด้วยการออกกำลังกายแบบใหม่ (เช่น โยคะ) การฝึกสมาธิ และการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพนี้ได้แพร่ต่อไปยังชนชั้นกลางและสูงในสิงคโปร์ และต่อมาได้เริ่มขยายไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้มีโอกาสไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ นอกจากนี้ มีกลุ่มครอบครัวคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มมีลูกเล็ก ก็หันมาเลือกซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์สำหรับลูกของตัวเองโดยเฉพาะ เพราะเชื่อว่า จะช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้เป็นฐานสำคัญของตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศสิงคโปร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ เช่น SARS และไข้หวัดนก ยิ่งทำให้ผู้บริโภคในสิงคโปร์หันกลับมาให้ความสนใจกับเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การผลิตเกษตรอินทรีย์
จากฟาร์มเกษตรที่ปลูกผักทั้งหมด 40 ฟาร์มในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งกำลังการผลิตสามารถตอบสนองต่อความต้องการบริโภคได้เพียง 5% ของปริมาณการบริโภคโดยรวมภายในประเทศ มีฟาร์มที่ปลูกผักเกษตรอินทรีย์อยู่ 4 ฟาร์ม คือ Green Valley Farms, Fire Flies Health Farm, Green Circle และ Quan Fa Organic Farm ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มีการรับรองมาตรฐานแต่อย่างใด (ฟาร์ม Green Valley Farms อ้างว่า เคยได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จาก Biological Farmers of Australia (BFA) จากออสเตรเลีย แต่ปัจจุบันไม่ได้ขอการรับรองต่ออีกแล้ว) ผลผลิตจากฟาร์มเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกผักที่สามารถปลูกได้ในเขตอากาศร้อนชื้น เช่น คะน้า ผักกาดฮ่องเต้ บวบ แตงกวา กระเจี๊ยบเขียว ซึ่งผลผลิตผักสดเหล่านี้จะถูกส่งขายให้กับร้านสุขภาพและซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมือง
ที่จริงแล้ว ในสิงคโปร์ยังมีฟาร์มเลี้ยงปลาและสัตว์น้ำอีกราว 62 แห่ง ที่เลี้ยงปลากระพง ปลาเก๋า ปลานิล ปลาช่อน หอยนางรม หอยแมงภู่ ปู เป็นต้น แต่ไม่มีฟาร์มใดที่ได้ผลิตสัตว์น้ำในระบบเกษตรอินทรีย์
การแปรรูปเกษตรอินทรีย์
ในส่วนของอาหารแปรรูป แม้ว่าสิงคโปร์จะมีอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฎว่ามีการผลิตอาหารแปรรูปเกษตรอินทรีย์ในประเทศเท่าใดนัก ถ้าเด่นชัดมากที่สุด คือ การทำเต้าหู้สดเกษตรอินทรีย์ โดยการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ที่เหลือเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ในลักษณะหีบห่อใหญ่ แล้วนำมาบรรจุถุงย่อยในประเทศสิงคโปร์ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภค
อาหารเกษตรอินทรีย์เกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงและจากที่ไกลๆ เช่น ประเทศในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่จะนำเข้าสินค้าที่บรรจุเสร็จแล้ว พร้อมจำหน่ายให้กับผู้บริโภคได้ทันที แต่ก็มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่นำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในลักษณะที่ยังไม่บรรจุเสร็จ และจะทำการบรรจุย่อยเองในประเทศ เช่น ธัญพืช ซึ่งบางส่วนก็จะขอการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในขั้นตอนของการบรรจุย่อยด้วย ส่วนการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์นั้น ไม่ปรากฎว่า มีการดำเนินการใดในประเทศสิงคโปร์ในปัจจุบัน
การตลาดเกษตรอินทรีย์
ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์เริ่มต้นมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษ 1990 โดยเริ่มจากร้านสุขภาพที่นำสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าจากต่างประเทศออกวางจำหน่ายในร้านของตัวเอง ร้านสุขภาพนี้เป็นร้านเฉพาะทาง (specialty shop) ที่เน้นขายอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่เป็นผู้สนใจในเรื่องสุขภาพเป็นพิเศษ รวมทั้งผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าเกษตรอินทรีย์ด้วย ในช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมา ห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตได้เริ่มหันมาให้ความสนใจกับตลาดเกษตรอินทรีย์ และจึงได้เริ่มพบผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรอินทรีย์วางจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ โดยเฉพาะ NTUC FairPrice และ Cold Storage ในปัจจุบัน มีร้านเฉพาะทางเหล่านี้ประมาณ 23 ร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตอีก 4 กลุ่มที่ขายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อยู่
นอกจากนี้ ยังมีร้านกาแฟและร้านอาหารต่างๆ ที่พยายามนำเสนอเมนูอาหารเกษตรอินทรีย์ด้วย แต่ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางการตลาดเท่าไหร่นัก
ขนาดของตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์ยังค่อนข้างมีความสับสน ที่ผ่านมา มีงานวิจัยตลาดเกษตรอินทรีย์สิงคโปร์ 4 ฉบับ โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (ศึกษาตลาดของปี 2543) Canadian High Commission (ตลาดปี 2545) และ Department of Primary Industries (ตลาดปี 2549) ของรัฐวิคเตอเรีย ออสเตรเลีย (ตลาด 2550) ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะประมาณการขนาดตลาดเกษตรอินทรีย์ของสิงคโปร์จะอยู่ราว 150 – 200 ล้านบาท ยกเว้นในการศึกษาของ Stanton, Emms & Sia (2008) ที่ทำการศึกษาให้กับรัฐบาลแคนาดา ที่ประเมินตลาดเกษตรอินทรีย์สิงคโปร์สูงถึงหนึ่งพันกว่าล้านบาท จากข้อมูลดังกล่าว ผนวกกับการสำรวจข้อมูลการตลาดและการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโดยนักวิจัย พบว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. 2552) น่าจะมีขนาดราว 4.6 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเกษตรอินทรีย์บางส่วน แต่เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงมาก ทำให้มูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์เมื่อคิดเป็นเงินบาทกลับกลายเป็นขยายตัวขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบเฉลี่ยการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ต่อหัวประชากรแล้ว ต้องถือได้ว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์สิงคโปร์เริ่มเป็นที่น่าสนใจพอควร เพราะผู้บริโภคมีการซื้อหาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เฉลี่ยปีละ 1.02 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ แล้วนับว่า ตลาดเริ่มมีนัยสำคัญทีเดียว
จากการประเมินตลาดในสิงคโปร์ พบว่าในช่วงก่อนที่จะมีปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่เริ่มจากช่วงกลางปี พ.ศ. 2551ตลาดเกษตรอินทรีย์สิงคโปร์มีอัตราการเจริญเติบโตค่อนข้างสูง เช่น งานวิจัยของ Converging Knowledge (2004) และ Department of Primary Industries (2007) ประมาณว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์โตราว 20% ในขณะที่ Stanton, Emms & Sia (2008) ประมาณว่า ตลาดโตสูงถึง 120% ต่อปี ทั้งนี้เพราะตลาดยังมีขนาดค่อนข้างเล็กมาก จึงทำให้มีการขยายตัวค่อนข้างสูง แต่ตลาดหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตลาดเกษตรอินทรีย์ในสิงคโปร์ได้ชะลอตัวลงพอควร ซึ่งผู้ประกอบการหลายคนในสิงคโปร์ยอมรับว่า ตลาดเกษตรอินทรีย์สิงคโปร์จะสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศค่อนข้างมาก เพราะผู้บริโภคหลักกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่เลือกซื้ออาหารเกษตรอินทรีย์ เพราะต้องการทดลองบริโภค ซึ่งผู้ซื้อในกลุ่มจะเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคตามภาวะของเศรษฐกิจ
กฎระเบียบการค้าและการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์
ในปัจจุบัน ประเทศสิงคโปร์ยังไม่ได้มีการออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าและการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์แต่อย่างใด และจากการสอบถามหน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ Agri-Food & Veterinary Authority of Singapore (AVA) ก็ไม่ปรากฎว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะกำหนดกฎระเบียบดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเชื่อกันว่า เกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ควรต้องเน้นที่เรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในสิงคโปร์มีกฎระเบียบเกี่ยวกับเรื่องฉลากสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบในคำกล่าวอ้างในฉลากที่เป็นจริง ซึ่งในการตีความของ AVA เชื่อว่า การจะกล่าวอ้างว่าสินค้าเป็นเกษตรอินทรีย์นั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีใบรับรองความเป็นเกษตรอินทรีย์ โดย AVA ได้อ้างว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น ควรจะเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของ CODEX เกี่ยวกับการการผลิต แปรรูป การตลาด และการใช้ฉลากของอาหารเกษตรอินทรีย์ (CODEX’s Guidelines for the Production, Processing, Marketing and Labelling of Organic ally Produced Foods) และได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ทาง AVA ได้ยอมรับการรับรองเกษตรอินทรีย์ในทุกมาตรฐานและทุกหน่วยงานรับรอง โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่า มาตรฐานที่ใช้ในการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้าเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของ CODEX จริงหรือไม่ หรือหน่วยงานรับรองเป็นที่ยอมรับจริงหรือไม่
ดังนั้น การนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จึงเพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าและการขายสินค้าเกษตรและอาหารเช่นเดียวกันกับสินค้าทั่วไป ซึ่ง AVA เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของอาหาร รวมทั้งการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการผลิตแปรรูปอาหาร การตรวจสอบรับรอง และการควบคุมการนำเข้าสินค้าอาหาร โดยผู้ประกอบการนำเข้าจะต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ากับทาง AVA ก่อน (ซึ่งสามารถดำเนินการทางอินเตอร์เน็ตได้) จากนั้น เมื่อจะนำเข้าสินค้าในแต่ละครั้ง จะต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ที่ระบุรายละเอียดของชนิดและปริมาณสินค้าที่จะนำเข้า (ขอผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน) ซึ่งถ้านำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะต้องระบุว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องแนบเอกสารใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์กับใบขออนุญาตนำเข้า แต่ผู้ประกอบการนำเข้าจะมีเอกสารใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สำหรับให้เจ้าหน้าที่ AVA ตรวจเมื่อมีการสุ่มตรวจสินค้านั้น ซึ่งเป็นการสุ่มตรวจในลักษณะของการสำรวจสินค้าในตลาด (post-market inspection)
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชนของสิงคโปร์เองเริ่มให้ความใส่ใจกับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างมาก สินค้าเกษตรอินทรีย์นำเข้า ที่วางจำหน่ายในร้านค้าเกือบทั้งหมดจะมีติดฉลากตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ยกเว้นเฉพาะแต่ ผลผลิตผักสดเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต NTUC FairPrice ได้ริเริ่มจัดทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และระบบการรับรองของตัวเอง เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ภายใต้ชื่อ Pasar Organicซึ่งได้เริ่มเปิดตัวมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2551
สิงคโปร์มีกฏระเบียบเกี่ยวกับนำเข้าข้าวขาว ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องนำเข้าขั้นต่ำไม่น้อยกว่าเดือนละ 50 ตัน ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำเข้ารายย่อย นำเข้าเฉพาะข้าวกล้องเกษตรอินทรีย์จากต่างประเทศ เพราะไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณนำเข้าขั้นต่ำ
นโยบายเกษตรอินทรีย์
ณ ปัจจุบัน รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้มีนโยบายอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการผลิต แปรรูป หรือการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงไม่ได้มีมาตรการทั้งส่งเสริมหรือควบคุมการผลิต แปรรูป หรือการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีนโยบายส่งเสริมสุขภาพ โดยได้มีการจัดทำการรณรงค์การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น “healthy living and eating” ทั้งนี้เพราะประชาชนจำนวนมากในประเทศมีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดำเนินชีวิต เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ทำให้มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการบริโภคเพื่อสุขภาพค่อนข้างมาก เช่น “Healthy Choice” หรือ “Less Fat, Sugar and Salt” หรือในปีนี้ ก็มีการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องการเลือกบริโภคอาหารที่เป็นธัญพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป ซึ่งช่วยทำให้กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพของสิงคโปร์ (Singapore’s Health Promotion Board) ยังไม่ได้ให้ความยอมรับต่อประโยชน์ทางสุขภาพของการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์เท่าไหร่นัก ดังจะเห็นได้จากบทความของคณะกรรการส่งเสริมสุขภาพที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ซึ่งระบุว่า อาหารเกษตรอินทรีย์ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารพิเศษแตกต่างไปจากอาหารทั่วไป ดังนั้น แม้จะมีการส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้มีการส่งเสริมอาหารเกษตรอินทรีย์เป็นการเฉพาะเท่าไหร่นัก
[จากรายงาน “การขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรณีศึกษาในประเทศมาเลเซีย และ สิงคโปร์)” โดยวิฑูรย์ ปัญญากุล (2553) ศูนย์พัฒนาเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท, โครงการวิจัยสนับสนุนโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์]