10 โครงการนำร่องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสนับสนุนให้องค์กรในระดับท้องถิ่นได้จัดทำกิจกรรมทดลองการปรับตัวในระดับชุมชนนั้น ซึ่งจะช่วยให้
เกืดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานระดับท้องถิ่น อันจะนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้และบทเรียน ที่สามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น  โครงการนำร่องนี้ประกอบด้วย

โครงการ

พื้นที่

ประเภทโครงการ

หน่วยงาน

1. โครงการพัฒนาการปลูกข้าวพื้นบ้านในพื้นที่นาหลังน้ำท่วม ชุมชนท่าช้าง

ต. พนางตุง     อ. ควนขนุน จ.พัทลุง

เกษตรพันธุ์ข้าว

เครือข่ายชาวนาทางเลือกพัทลุง

2. โครงการนำร่องการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงบ้านมดตะนอย:ชุมชนกับการจัดระบบเฝ้าระวังสภาพภูมิอากาศและเตือนภัยทางทะเล

อ. กันตัง จ.ตรัง

เตือนภัยประมง

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

3. การปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะโลกร้อนของกลุ่มเกษตร

คลองจินดา

สามพราน จ.นครปฐม

น้ำท่วมเกษตร

มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

4. โครงการทดลองทำนาหยอดแบบไถชักร่องเพื่อปรับตัวรับมือกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ

.สนามชัยเขต และ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา

เกษตรภัยแล้ง

มูลนิธิส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาชุมชน

5. โครงการนำร่องจากวนเกษตร

.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

ความมั่นคงด้านอาหาร

มูลนิธิวนเกษตรเพื่อสังคม

6. โครงการคลังอาหารสำรองในชุมชนเพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายใต้ภาวะการณ์ผันผวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ความมั่นคงด้านอาหาร

สหกรณ์เกษตรยั่งยืนแม่ทา

7. โครงการพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการปรับตัวชุมชนบนดอยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจองชุมชน บนดอยแม่วิน

.แม่วิน จ.เชียงใหม่

เตือนภัยดินถล่ม

เครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำแม่วางตอนบน

8. โครงการสนับสนุนข้อมูลพยากรณ์ภูมิอากาศสำหรับเกษตรกรปลูกข้าว เพื่อรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

เลิงนกทา และ อบากเรือ จ.ยโสธร

เกษตรข้อมูลสภาพอากาศท้องถิ่น

สหกรณ์กรีนเนท

9. โครงการสนับสนุนเมืองในการรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เทศบาลนครเชียงราย

เมือง จ.เชียงราย

เมือง

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

10. โครงการส่งเสริมการปรับตัวเพื่อลดผล กระทบจากภาวะแปรปรวนของสภาพอากาศ กลุ่มองค์กรชาวบ้านบัวใหญ่ บัวลาย จ.นครราชสีมา

.บัวใหญ่ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา

การจัดการน้ำ, ข้าว มูลนิธิชีวิตไท

การพัฒนาการปลูกข้าวพื้นบ้านในพื้นที่นาหลังน้ำท่วม ชุมชนท่าช้าง

ชุมชนบ้านท่าช้างตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ริมคลองปากประ ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำท่าที่ไหลมาจากเทือกเขาบรรทัด ก่อนที่น้ำเหล่านี้จะไหลลงทะเลสาปน้อย  (ทะเลสาปสงขลาตอนบน)  ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร จากพื้นที่เกษตรทั้งหมด 4,175 ไร่ เป็นพื้นที่ทำนา 3,175 ไร่ และที่เหลือ 1,000 ไร่เป็นสวนยางพารา  ชาวบ้านบางคนมีอาชีพปลูกพริก (สด) ขาย  นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีการทำหัตถกรรมจากหญ้ากระจูด ซึ่งหาได้จากพื้นที่ชุ่มน้ำรอบๆ ชุมชน  ชาวบ้านในชุมชนมี 232 ครัวเรือน ประชากร 788 คน

ในอดีตจะมีน้ำหลากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม (น้ำหลากสูงประมาณ 1 เมตร นานประมาณ 30 – 45 วัน) และในทุก 5 – 7 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ (น้ำลึก 1 – 2 เมตร และนานประมาณ 60 – 90 วัน) ซึ่งชาวบ้านจะเริ่มทำนาปลูกข้าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งน้ำที่หลากมาไม่ได้มีผล กระทบต่อนาข้าวมากนัก เพราะต้นข้าวเติบโต จนสามารถทนต่อน้ำหลากได้  แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่บ่อยครั้งเกือบทุกปี ทำให้ชาวบ้านต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาใหม่ เป็นการปลูกข้าวปีอายุสั้น (พันธุ์ปรับปรุงที่ราชการส่งเสริม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525) ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน/พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม และอาจปลูกข้าวนาปรังอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายน ซึ่งจะไปเก็บเกี่ยวในดือนกุมภาพันธ์/มีนาคม

กลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อ “วิชาลัยรวงข้าว” ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชาวนาทางเลือกพัทลุง ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ โดยมีภาคีความร่วมมืออื่นๆ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง โรงเรียนบ้านท่าช้าง วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ  ปัจจุบัน กลุ่มมีสมาชิก 60 ครอบครัว และมีนายอำมร สุขวัน เป็นประธาน

โครงการนี้เป็นการศึกษาทดลองเพื่อหาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่มีอายุสั้นและมีความเหมาะสมในการเพาะปลูก ภายใต้สภาพเงื่อนไขของชุมชน เพื่อปลูกในพื้นที่นาหลังน้ำท่วม โดยวางแผนว่าจะมีอาสาสมัครชาวนาไม่น้อยกว่า 20 คน ที่มาร่วมทดลองในแปลงนารวม ประมาณ 20 ไร่ โดยทางกลุ่มวางแผนที่จะทดสอบพันธุ์ข้าว 10 สายพันธุ์ คือ สังข์หยด เฉี้ยง เล็บนก ช่อจังหวัด เหนียวดำ หัวนา นางกราย ไข่มดริ้น อุเด็น และหน่วยเขือ

Attachment ขนาด
PP_phatalung.pdf 981.62 KB

< กลับไปด้านบน >

บ้านมดตะนอย: ชุมชนกับระบบเฝ้าระวังสภาพภูมิอากาศและเตือนภัยทางทะเล

    ชุมชนบ้านมดตะนอยเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณใกล้กับปากคลอง “ใหญ่” โดยพื้นที่ทั้งหมดที่ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนทั้งหมดเป็นพื้นที่เขตป่าสงวน ภายใต้การดูแลของสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 31  โดยบางส่วนอยู่ในเขตริมชายฝั่งทะเลและบางส่วนอยู่ในป่าโกงกางชายเลน  ในชุมชน มีประชาการราว 320 – 330 ครอบครัว ทั้งหมดประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน หรืออาชีพที่เกี่ยวข้อง และมีเพียง 10% ที่มีพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกยางพารา

วิถีอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนนี้จะเริ่มออกเรือตั้งแต่รุ่งเช้า 3.00 – 5.00 น. เพื่อจับปลาและสัตว์ทะเลบริเวณใกล้ชายฝั่ง โดยการวางอวนและเครื่องมือจับสัตว์น้ำอื่นๆ  ในรัศมีประมาณ 15 – 20 กิโลเมตรจากแผ่นดินใหญ่ และจะกลับเข้าฝั่งประมาณในช่วงบ่ายประมาณ 15.00 – 17.00 น.  เรือประมงของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเรือประมงขนาดเล็ก ซึ่งสัตว์น้ำที่จับได้จะขายให้กับพ่อค้าในชุมชน เพื่อนำไปจำหน่ายต่ออีกทีหนึ่ง

นอกเหนือจากการต้องพึ่งพาวัฐจักรน้ำขึ้น-น้ำลงในการออกเรือประมงในแต่ละวันแล้ว  การทำประมงของชาวบ้านต้องอาศัยพึ่งพา โดยปกติ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน จะเป็นช่วงลมมรสุม ซึ่งชาวบ้านอาจออกเรือได้เพียงบางวัน  ปัญหาความผันผวนของสภาพอากาศได้ส่งผลต่อการทำประมงของชาวบ้านในหลายด้าน ตั้งแต่อากาศที่ร้อนขึ้น ส่งผลให้น้ำทะเลอุ่นขึ้น ประการังเกิดการฟอกขาว และสัตว์น้ำต่างๆ ลดจำนวนลง หรือฝนที่ตกเพิ่มขึ้น มีน้ำจืดไหลลงทะเลมากขึ้น ส่งผลให้สมดุล/พลวัตรของน้ำทะเลเปลี่ยนไป ปริมาณสัตว์ทะเลก็เปลี่ยนไปได้  รวมทั้งการเกิดลมหมุนในทะเล ซึ่งทำให้เครื่องมือจับสัตว์น้ำเสียหาย  ผลโดยรวมก็คือ ชาวประมงมีความเสี่ยงจากปัจจัยสภาพอากาศในการทำมาหากินมากขึ้น

มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ริเริ่มจัดทำโครงการนำร่องขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านมดตะนอย เพื่อพัฒนาระบบการเฝ้าระวังภัยจากภูมิอากาศที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากระบบการเตือนภัยของราชการเป็นการเตือนภัยในพื้นที่ขนาดใหญ่ และชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายนัก  การจัดทำระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัยของชุมชนเป็นมาตรการหนึ่งในการจัดการปัจจัยเสี่ยงจากสภาพอากาศได้ ซึ่งโครงการมีแผนที่จะจัดทำระบบวิทยุสื่อสารในท้องถิ่น ที่ให้ชาวประมงที่ออกเรือได้รายงานหรือแจ้งเตือนสภาพอากาศในท้องถิ่น ในบริเวณที่ตัวเองได้ออกเรือไป ซึ่งจะทำให้ชาวประมงอื่นได้รับทราบ และตัดสินใจที่จะออกเรือ/ไม่ออกเรือไปในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งน่าจะช่วยป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านจากสภาพอากาศได้

Attachment ขนาด
PP_trang.pdf 482 KB

< กลับไปด้านบน >

คลองจินดา: ปรับตัวด้านการเกษตรเพื่อรับมือกับน้ำท่วมและอากาศร้อน

    ชุมชนเกษตรกรคลองจินดาเป็นชุมชนชาวสวนเก่าแก่ เป็นแหล่งผลไม้ที่ขึ้นชื่อ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศ ที่เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองจินดา ที่แยกมาจากแม่น้ำท่าจีน และอยู่ใกล้กับกรุงเทพ  การทำสวนของเกษตรกรในชุมชนมักจะเป็นลักษณะของสวนยกร่อง ปลูกองุ่น ส้ม ละมุด ฝรั่ง ชมพู่ พุทรา มะพร้าวน้ำหอม  แต่ก็มีพื้นที่บางส่วนที่ใช้ทำนาปลูกข้าว  ตำบลคลองจินดาประกอบด้วย 14 หมู่บ้าน 1,132 ครัวเรือน ประชาการราว 5,793 คน และมีพื้นที่เกษตรรวมกันประมาณ 14,561 ไร่

ในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ก็จะทำสวนไม้ผลผสมผสานบริเวณพื้นที่ริมน้ำ ปลูกหมาก ส้มโอ มะพร้าว กล้วย  ต่อมา เมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และวิถีการทำสวนยกร่องแบบชาวสวนดำเนินสะดวกได้แพร่เข้ามา ทำให้ชาวบ้านจึงเลิกทำนา (เพราะสามารถทำนาได้เพียงปีละครั้ง จึงได้ผลตอบแทนน้อย) ปรับเปลี่ยนที่นาเป็นสวนยกร่อง และนำพันธุ์ผลไม้จากเมืองนนท์และที่ต่างๆ เข้ามาปลูกกันอย่างแพร่หลาย ส่วนชาวบ้านที่ยังอยากทำนาอยู่ ก็อาจปลูกข้าวในท้องร่องสวน เพื่อให้มีข้าวพอกิน

ที่ผ่านมา คลองจินดาไม่ค่อยประสบกับวิกฤติจากสภาพอากาศบ่อยนัก  มีน้ำท่วมใหญ่ที่สำคัญๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับลมมรสุมใหญ่ เช่น ในปี พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2526-27 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ก็มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมประจำปี เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากน้ำเหนือที่จะไหลลงสู่กรุงเทพในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่น้ำทะเลขึ้นสูง จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรของเกษตรกรได้  ปัญหาที่สำคัญกว่าสำหรับเกษตรกรชาวสวนที่คลองจินดาคือ ปัญหาอากาศร้อน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช การออกดอก/ติดผล รวมทั้งโรคและแมลงศัตรูพืชที่ระบาดเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความผันผวนของสภาพอากาศ ที่ร้อนจัด ลมแรง และมีฝนตกแบบหนัก และทิ้งช่วง ซึ่งทำให้การทำเกษตรของชาวบ้านยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านได้ทำการปรับตัวเพื่อรับมือกับความผันผวนของสภาพอากาศไปบ้างแล้ว เช่น การใช้แสลนเพื่อพรางแสงให้ต้นไม้ผล การห่อกระดาษให้กับผลไม้เป็น 2 ชั้น การใช้สารเคมีเพื่อควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช การทำคันดินเพื่อป้องกันน้ำท่วม การเสริมไม้ค้ำยันให้กับไม้ผล (กันลมพัดกิ่งหัก/ฉีดขาด) รวมไปถึงการเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก ที่สามารถทนกับอากาศร้อนและความผันผวนของสภาพอากาศได้

กลุ่มเกษตรยั่งยืนคลองจินดา โดยการสนับสนุนของมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้ริเริ่มจัดทำโครงการนำร่องด้านการเกษตรในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาสภาพปัญหา การปรับตัว ความเสี่ยง และความเปราะบางของเกษตรกรในพื้นที่ ตลอดจนทำการทดสอบวิธีการปรับตัว ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้น ร่วมกับเกษตรกรตัวอย่าง 10 ราย

Attachment ขนาด
PP_jinda.pdf 256.78 KB

< กลับไปด้านบน >

คลังอาหารชุมชนแม่ทา: ความมั่นคงด้านอาหารภายใต้สภาพอากาศที่ผันผวน

ชุมชนแม่ทาตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบขนาดเล็ก ตามลุ่มน้ำแม่ทา โอบล้อมรอบด้วยภูเขา 3 ด้าน ยกเว้นทางด้านทิศตะวันตก  พื้นที่ส่วนใหญ่ (ประมาณ 80%) เป็นที่ลาดชัน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า (73%) และมีพื้นที่การเกษตรเพียง 13,875 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ลาดชัน ชาวบ้านจะปลูกไม้ผล (เช่น กล้วย ลำไย มะม่วง มะขาม) และไม้ยืนต้น แทรกด้วยข้าวโพดฝักอ่อน (เฉพาะในฤดูฝน) ส่วนพื้นที่ราบ จะทำนาปลูกข้าวในฤดูฝน และปลูกข้าวโพดฝักอ่อนในฤดูแล้ง  ตำบลแม่ทาประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน 1,495 ครอบครัว

ในอดีต ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีรายได้หลักจากการขายข้าวโพดฝักอ่อน แต่ได้มีองค์กรพัฒนาเอกชนได้เข้าไปส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืนในชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 และชาวบ้านบางส่วนได้เริ่มหันมาปลูกผักเกษตรอินทรีย์กันตั้งแต่ปี 2535 และทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มทำกิจกรรมส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2541 จนในปี 2543 ทางกลุ่มเกษตรกรได้ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้ง “สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา จำกัด”

ที่ผ่านมา ในพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมเป็นบางปี เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนัก จนทำให้น้ำในแม่น้ำแม่ทาเอ่อล้น ไหลเข้าท่วมที่นาและพื้นที่ราบริมลำน้ำ ซึ่งปัญหาน้ำท่วมนี้ได้เริ่มเกิดบ่อยขึ้นในช่วงระยะหลัง ซึ่งทำให้เกิดปัญหามีผลผลิตข้าวไม่เพียงพอ เพราะพื้นที่ลุ่มที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวมีจำกัดอยู่แล้ว เมื่อเกิดภัยพิบัติ ทำความเสียหายกับแปลงนา การผลิตข้าวจึงลดลง ส่งผลต่อปัญหาความมั่นคงทางอาหารในชุมชน

นอกจากนี้ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดพึ่งพาอาหารธรรมชาติจากป่าชุมชนและพื้นที่สาธารณะในละแวกชุมชน โดยการเก็บหาผลผลิตจากป่า (เช่น เห็ด หน่อไม้ พืชผัก) มาใช้บริโภคเป็นอาหารประจำวัน ซึ่งความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้เริ่มมีผลต่อระบบนิเวศธรรมชาติของป่าเหล่านี้ เช่น ฤดูหนาวที่สั้นลงและหนาวน้อยลง ฤดูร้อนที่ร้อนมากขึ้นและยาวนานขึ้น รวมทั้งฤดูฝนที่ฝนตกหนักมาขึ้น  ปัจจัยสภาพอากาศเหล่านี้ทำให้ระบบนิเวศธรรมชาติเปลี่ยนไป ส่งผลต่ออาหารธรรมชาติที่มีอยู่ มีทั้งที่เกิดมากขึ้น-น้อยลง หรือเปลี่ยนแปลงฤดูในการออกผลผลิต

ทางสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาจึงได้ริเริ่มโครงการปรับตัว โดยเน้นที่การพัฒนาระบบคลังอาหารสำรองในชุมชน โดยการศึกษาหาชนิดพันธุ์ของพืชหัว ที่สามารถนำมาบริโภคทดแทนข้าว ในกรณีที่การผลิตข้าวไม่ได้ผล โดยศึกษาทั้งทางด้านการเพาะปลูก ความต้องการของผู้หญิงในการจัดเตรียมและปรุงอาหารจากพืชหัว คุณค่าทางโภชนาการ และปริมาณการบริโภคของคนในชุมชน (เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ) รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิกได้เริ่มเพาะปลูกพืชหัวเหล่านี้ไว้ เพื่อเป็นคลังอาหารสำรองภายในชุมชน

นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ฯ ยังได้ทำการสำรวจและประเมินการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารธรรมชาติในแต่ละฤดูกาล ตลอดทั้งช่วงปี ที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความผันผวนของสภาพอากาศ และระดมความคิดเห็นเพื่อหามาตรการในการบรรเทาปัญหาที่จะเกิดขึ้น

Attachment ขนาด
PP_maeta.pdf 164.7 KB

< กลับไปด้านบน >

ชุมชนดอยแม่วิน: พัฒนาการเรียนรู้เพื่อปรับตัวรับมือกับโลกร้อน

ชุมชนดอยแม่วินตั้งอยู่บนภูเขาสูง  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะเญอ (กระเหรี่ยง) ชาวม้ง และคนพื้นราบที่อพยพขึ้นไปอยู่บนดอย รวมทั้งหมด 19 หมู่บ้าน  ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพการเกษตร ปลูกผักและไม้ผลเมืองหนาวเป็นรายได้  พื้นที่ทำนาปลูกข้าวมีไม่มาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง แต่อาจมีการปลูกข้าวไร่ในบางส่วน  มีการเลี้ยงวัวเป็นอาชีพเสริม (วัวเนื้อ) โดยเลี้ยงปล่อยตามป่า

ในอดีต สภาพอากาศจะเย็นเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นเฉพาะในเดือนเมษายน – พฤษภาคม ที่อาจมีอากาศร้อนบ้าง  และอาจเกิดไฟป่าในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนบ้าง  แหล่งน้ำส่วนใหญ่มีน้ำเกือบตลอดทั้งปี ถ้าจะแห้ง ก็เฉพาะช่วงเดือนเมษายนเพียง 1 – 2 สัปดาห์  ปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม-น้ำใช้จึงไม่มากนัก

สภาพอากาศที่ผันผวนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มปรากฎการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในทุกฤดู  เริ่มจากฤดูฝน ที่ฝนตกหนักมากขึ้น และจะมีปัญหาน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม ที่ปริมาณน้ำมีมากขึ้น จนทำให้พื้นที่เสียหายจากน้ำท่วมมีบริเวณกว้างขึ้น และเริ่มมีปัญหาดินถล่มเพิ่มขึ้น  ส่วนในฤดูหนาว สภาพอากาศร้อนขึ้น จนเริ่มมีผลกระทบต่อไม้ผลเมืองหนาว ที่ให้ผลผลิตลดลง แต่ในบางปี ก็มีสภาพอากาศหนาวจัด จนทำให้สัตว์เลี้ยง (รวมถึงวัว-ควาย) ตายลงเป็นจำนวนมาก  รวมไปถึงสภาพอากาศที่แตกต่างกันระหว่างกลางวัน-กลางคืน (กลางวันร้อนมาก แต่กลางคืนหนาวมาก)  ส่วนในหน้าร้อน สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น จากเกิดปัญหาไฟป่า แหล่งน้ำเหือดแห้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค เป็นต้น  ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเหล่านี้ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของชาวบ้านในชุมชนดอยแม่วินเด่นชัดขึ้น

แม้ว่าชาวบ้านจะได้เริ่มทำการปรับตัว เช่น ในกรณีของน้ำท่วมข้าว (ช่วงกันยายน-ตุลาคม) เกษตรกรจะเร่งการปลูกข้าวให้เร็วขึ้น (เพื่อให้ข้าวสุกพร้อมเก็บเกี่ยวก่อนน้ำหลาก) ทดลองพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีอายุสั้นลง หรือการรับฟังข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปริมาณฝน (เพื่อจะได้สามารถไปเกี่ยวข้าวก่อนน้ำหลาก)  การปลูกไม้ยืนต้นริมลำห้วย  การปลูกหญ้าแฟก เพื่อลดการพังทลายของดิน  สร้างแหล่งน้ำสำรอง  เลี้ยงสัตว์ในบริเวณใกล้บ้าน ที่สามารถดูแลได้ทั่วถึงมากขึ้น และการอนุรักษ์ป่าโดยรวมเพิ่มขึ้น

ทางเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวางตอนบน และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน ได้ร่วมกันจัดทำโครงการสนับสนุนให้ชาวบ้านได้ทำการปรับตัว โดยเน้นที่การสร้างการรับรู้ให้กับชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อว่า ความผันผวนของสภาพอากาศเกิดจากการลงโทษของพระเจ้า/ผี) การสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังดินถล่ม และการจัดการพื้นที่การเกษตรที่ช่วยป้องกันดินถล่ม (เช่น การปลูกพืชยึดดิน คลุมดิน การทำเกษตรอินทรีย์)

Attachment ขนาด
PP_maewang.pdf 242.91 KB

< กลับไปด้านบน >

บรรเทาภัยแล้ง: ออกแบบขุดสระเก็บน้ำไว้ทำนาที่โคราช

องค์กรชาวบ้านบัวใหญ่-บัวลายเป็นองค์กรชุมชนในเขตอำเภอบัวใหญ่และอำเภอบัวลาย ซึ่งเป็นพื้นที่อับฝน  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดอน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปลูกพืชไร่ แต่ในพื้นที่ที่ลุ่มหน่อย ชาวบ้านทำนาปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภค  ดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย บางแห่งมีกรดปน และมีปัญหาดินเค็มเป็นหย่อมๆ  นอกจากนี้ ยังพบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งในอดีตมักจะเกิดขึ้นในรอบ 4 – 5 ปี แต่ในช่วงระยะหลัง ปัญหาภัยแล้งเกิดบ่อยขึ้น แทบจะปีเว้นปีเลยทีเดียว ทำให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่นี้ที่มีอาชีพการเกษตรมีฐานะค่อนข้างยากจนกว่าพื้นที่อื่น

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับสภาพอากาศของจังหวัดนครราชสีมาโดยรวม พบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงแบบแผนการตกของฝนในช่วง 10 ปีหลัง ที่ยาวนานขึ้น โดยฝนจะเริ่มตกเร็วขึ้นและหมดช้าลง  จากเดิมที่ฝนเริ่มตกในเดือนพฤษภาคมและหมดในเดือนตุลาคม ฝนได้เริ่มตกเร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายนและหยุดในเดือนพฤศจิกายนแทน  แต่จากสำรวจข้อมูลในชุมชนพบว่า แบบแผนของฝนแตกต่างจากภาพรวมของจังหวัด คือ ฝนมีแนวโน้มช้าลง คือ เริ่มประมาณปลายเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนมิถุนายน และจะทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และฝนจะหยุดตกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการตกของฝนนี้ ทำให้การปลูกข้าวค่อนข้างได้รับผลกระทบ ทั้งจากการที่ต้องเริ่มไถนาเตรียมดินและหว่านกล้าช้าลง แปลงต้นกล้าขาดน้ำ (ในช่วงฝนทิ้งช่วง) และมีฝนตก น้ำท่วมขังในแปลงนา ในช่วงเกี่ยวข้าว  นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนขึ้นมากทำให้ชาวบ้านทำงานกลางแจ้งได้น้อยลง

ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกองค์กรชาวบ้านบัวใหญ่-บัวลายได้พยายามปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นที่การขุดบ่อ-สระน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตร โดย 18% ของสมาชิก (จากทั้งหมด 60 ครอบครัว) ได้เริ่มพัฒนาแหล่งน้ำสำรองของตัวเองไว้แล้ว โดยอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีอยู่ในพื้นที่หรือจากละแวกใกล้เคียง  ในโครงการนี้เป็นการศึกษาทดลองการออกแบบแหล่งน้ำ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอสำหรับการตกกล้าข้าว โดยจากการศึกษาข้อมูล ได้ทำการออกแบบสระน้ำ 3 รูปแบบ คือ สระสองระดับ สระแบบหลุมดักน้ำ และสระแบบฝาย เพื่อให้เกษตรกร 10 รายทดลองใช้ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำและการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ

Attachment ขนาด
PP_koraj.pdf 101.38 KB

< กลับไปด้านบน >