งานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งจัดทำโดยนักวิชาการจากหน่วยงานราชการ โดยในระยะแรก (ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990) เมื่อแนวคิดเกษตรอินทรีย์เริ่มได้รับการยอมรับจากหน่วยราชการ มีการทำวิจัยโดยนักวิจัยจากสถานีวิจัยเกษตรต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งผลออกมาค่อนข้างจะสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ ยกตัวอย่างเช่น จากงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวเกษตรอินทรีย์ 19 โครงการ ปรากฎว่า มี 18 ผลวิจัยยืนยันว่า การปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ได้ผลดีกว่าหรืออย่างน้อยไม่แตกต่างไปจากการใช้ปุ๋ยเคมี หลังจากงานวิจัยชุดนี้ ไม่พบชุดงานวิจัยแบบเดียวกันในพืชอื่นๆ อีกเลย ในปัจจุบัน อาจมีนักวิชาการบางคนในหน่วยงานภาครัฐที่สนใจเรืื่องเกษตรอินทรีย์ และอาจทำงานวิจัยเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปในลักษณะของความสนใจโดยส่วนตัวมากกว่า เพราะไม่มีหน่วยงานราชการใดที่มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยเกษตรอินทรีย์โดยตรง
กลุ่มที่สามเป็นงานวิจัยของนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา/วิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการรับจ้างวิจัยให้กับหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือภาคธุรกิจเอกชน แต่ก็มีนักวิชาการที่สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์จริงๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ที่พยายามทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ในแง่มุมต่างๆ ออกมาเผยแพร่
นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษา ตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี โท เอก ที่สนใจทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ไทยมากพอควร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อเรื่องเกษตรอินทรีย์ เมื่อเปรียบเทียบกับนักวิชาการอาวุโส
หน่วยงานที่ให้ให้งบประมาณสนับสนุนงานวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันก็คือ หน่วยสนับสนุนการวิจัยทั่วไปของประเทศ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้มีแผนหรือนโยบายในการส่งเสริมการวิจัยเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ
สถานภาพงานวิจัยเกษตรอินทรีย์ไทย
จากการสำรวจข้อมูลในระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวคม พ.ศ.2551 โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท พบงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์จำนวน 270 ชิ้น ซึ่งเป็นงานวิจัย-นวัตกรรมนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา รวมเป็นเวลา 19 ปี งานวิจัย-นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยเฉลี่ยมีงานวิจัยประมาณ 20 – 30 งานวิจัยต่อปี ยกเว้นในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมีจำนวนชิ้นงานวิจัยค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เกิดขึ้นจากโครงการนำร่องเกษตรยั่งยืนเพื่อเกษตรกรรายย่อย ที่ดำเนินการโดยมูลนิธิเกษตรยั่งยืน (ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ราว 600 ล้านบาท ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2546) แต่เป็นที่น่าสังเกตุว่า ในช่วงหลังปี พ.ศ. 2548 ที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ ภายใต้กรอบโครงการ “วาระแห่งชาติ เกษตรอินทรีย์” แต่ไม่ปรากฎว่ามีผลทำให้งานศึกษาวิจัย-นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
หน่วยงานที่มีการผลิตงานวิจัย-นวัตกรรมเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นผลงานที่ดำเนินการโดยสถาบันการศึกษา (รวมทั้งนักศึกษาปริญญาโท-เอก และนักวิชาการ) โดยมีการทำการศึกษาวิจัยมากกว่าครึ่งหนึ่งของงานวิจัย-นวัตกรรมในประเทศไทย รองลงมาลำดับสองคือ องค์กรพัฒนาเอกชน และตามด้วยหน่วยงานราชการ
ขอบเขตเนื้อหางานวิจัย-นวัตกรรม พบว่า งานวิจัยบางส่วนที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากกว่าหนึ่งเรื่อง โดยงานวิจัย-นวัตกรรมส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับด้านการส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์ รองลงมาเป็นงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้าวเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิตผักเกษตรอินทรีย์ ระบบฟาร์มเกษตรอินทรีย์ และตลาดเกษตรอินทรีย์ในประเทศ
อ่านเพิ่มเติม
* รายงาน “สภานภาพการวิจัย-นวตกรรม เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย” โดยวิฑูรย์ ปัญญากุล และภัทราวดี ภูมิภักดิ์ (2551), มูลนิธิสายใยแผ่นดิน/กรีนเนท และสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย, กรุงเทพ. (download รายงาน 1.03 MB)
Attachment | ขนาด |
---|---|
organicRI_report_public.pdf | 1.03 MB |