วิกฤติโลกร้อนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น น้ำ ดิน ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชายฝั่งทะเลและกาะขนาดเล็กในทะเล) และชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่นในชนบท (เช่น ความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ) ได้หลายระดับ ขึ้นอยู่กับระดับและขนาดของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่และวงกว้างย่อมสร้างผลกระทบที่รุนแรงได้มากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราว หรือในพื้นที่ขนาดเล็ก นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศยังส่งผลต่อภาคการเกษตรได้ในอีกหลายแง่มุม ทั้งจากการที่ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีความเข้มข้นมากขึ้น, ความชื้นในบรรยากาศและฝนที่เปลี่ยนแปลงไป, ปฏิสัมพันธ์ของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอกาศ เป็นต้น(แก้ไข)
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นนี้ “ไม่มีทางที่จะหยุดยั้งเอาไว้ได้ ในช่วงอายุคน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมาย …. ก็น่าจะไม่สามารถแก้ไขให้เหมือนเดิมได้ในช่วงระยะเวลาอีกนานมาก” (IPCC Working Group III, 2007 Report, Chapter 1 page 9 อ้างใน Roper 2009) โดยปัญหาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยหลักก็คือ อุณหภูมิของบรรยากาศโลกที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลที่ยกตัวสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของฝน และการเกิดภาวะอากาศที่รุนแรง (extreme weather) ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบได้ในหลายด้านอาทิเช่น (Roper 2009)
- สุขภาพ – การระบาดของโรคติดต่อและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ รวมทั้งปัญหาสุขภาพจากอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้น
- การเกษตร – ผลผลิตการเกษตรลดลง และการแย่งชิงน้ำเพื่อการชลประทาน
- เขตชายฝั่งทะเล – การกัดเซาะชายฝั่ง การพังทะลายของชายฝั่งทะเล ป่าชายเลนและประการังถูกทำลาย
- ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ – องค์ประกอบเปลี่ยนไป ป่าธรรมชาติบางส่วนเปลี่ยนแปลงไป หรืออาจหายไปทั้งหมด ส่งผลให้พืช-สัตว์ธรรมชาติบางชนิดสูญพันธุ์
จะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เราไม่อาจจะหยุดยั้งได้ และจะมีผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้จำเป็นที่จะต้องเตรียมการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้ (ควบคู่ไปกับการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ให้นิยามการปรับตัวว่าคือ การปรับเปลี่ยนระบบนิเวศ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Smit et al 2001 อ้างใน Leary et al 2008) ซึ่งรวมถึงการบรรเทาผลกระทบ หรือใช้ประโยชน์จาก การผันผวนของสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น การรับมือการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นกิจกรรมเฉพาะอย่าง เช่น เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชชนิดหนึ่งเป็นอีกชนิดหนึ่ง หรืออาจเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ เช่น การเปลี่ยนวิถีการผลิตและการดำเนินชีวิต หรือการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถาบัน การปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจเป็นกระบวนการปรับตัวก็ได้ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ เช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยง, การประเมินทางเลือกต่างๆ ในการรับมือ, การสร้างเงื่อนไขสำหรับการปรับตัว, การระดมทรัพยากรเพื่อการปรับตัว, การดำเนินการเพื่อปรับตัว, และการประเมินทบทวนแนวทางการปรับตัว เมื่อได้รับข้อมูลหรือผลการวิเคราะห์ใหม่ ซึ่งการปรับตัวในลักษณะที่เป็นกระบวนการนี้ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายและสถาบันจากรัฐ จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จ (Leary et al 2008)
ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามในการดำเนินโครงการพัฒนาชนบทแบบยั่งยืนในชุมชนท้องถิ่นจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งกิจกรรมของโครงการเหล่านี้มีบางส่วนอาจช่วยทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดีขึ้น แต่บางกิจกรรมก็อาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยโดยตรงในการปรับตัวของชุมชนเท่าใดนัก ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกับการพัฒนาชนบทแบบยั่งยืน อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ (McGray, Hammill and Bradley 2007) คือ (1) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่เผอิญมีเรื่องของการปรับตัวอยู่แล้ว (2) เป็นการปรับการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาแบบยั่งยืน ที่ทำให้เกิดการปรับตัวของเกษตรกร-ชุมชน เนื่องจากสภาพเงื่อนไขในการดำเนินกิจกรรมเปลี่ยนไป อันเนื่องมาจากผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (3) เป็นกิจกรรมที่ออกแบบและดำเนินการขึ้นเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
อย่างไรก็ได้ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด กิจกรรมการเตรียมตัวให้กับเกษตรกรและชุมชนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศควรจะต้องพิจารณาให้สัมพันธ์และเกื้อกูลกับกิจกรรมการพัฒนาชนบทแบบยั่งยืน เพราะในทางปฏิบัติ เป็นการยากที่จะแยกการปรับตัวและการพัฒนาอย่างยิ่งยืนออกจากกัน (McGray, Hammill and Bradley 2007) เนื่องจากว่า กิจกรรมที่ช่วยให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นปรับตัวนั้น ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายอื่นๆ ในเชิงการพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เช่น การสร้างแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตร เพื่อรับมือกับการผันผวนของแบบแผนการตกของฝน ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกษตรกรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยเกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตการเกษตร (เนื่องจากมีแหล่งน้ำ) ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งกระบวนการในการทำงานของทั้งสองก็มีความใกล้เคียงและเกี่ยวน้องสัมพันธ์กันอยู่แล้ว